พิธีลงนามสัญญา การซื้อขายน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผลิตได้จากการแปรรูปขยะพลาสติก ระหว่างบริษัทเทคซ่า เอนเนอร์ยี จำกัด และ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด

กรกฎาคม 4, 2019
บริษัท เทคซ่า เอนเนอร์ยี จำกัด มีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อสังคมที่ จังหวัดปราจีนบุรี
มิถุนายน 27, 2020

นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่า บริษัทได้ลงนามสัญญาซื้อขายน้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้จากการแปรรูปขยะพลาสติกร่วมกับบริษัท เทคซ่า เอนเนอร์ยี จำกัด และบริษัท วีเอ เอนเนอร์ยี จำกัด ปริมาณ 300,000 – 400,000 ลิตรต่อเดือน เป็นน้ำมันที่ได้จากกระบวนการไพโรไลซิส (Pyrolysis) ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำมันดิบ โดยผ่านการรับรองจากบริษัทตรวจสอบคุณภาพแล้ว จึงมั่นใจได้ว่าเป็นน้ำมันแปรรูปที่มีคุณภาพที่ดีได้มาตรฐานสามารถใช้กับโรงกลั่นน้ำมันได้

สำหรับความร่วมมือครั้งนี้นอกจากการได้ผลิตภัณฑ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่ช่วยเพิ่มทางเลือกของวัตถุดิบในการผลิต เป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มความมั่นคงในการจัดหาพลังงานให้ประเทศแล้ว ที่สำคัญช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการเปลี่ยนขยะพลาสติกให้เป็นทรัพยากร และนำกลับมาใช้ใหม่ แก้ไขปัญหาเรื่องการจัดการขยะพลาสติกได้อย่างยั่งยืน ซึ่งปริมาณน้ำมันดังกล่าวคิดเป็นการลดปริมาณขยะพลาสติกลงได้ราว 460-560 ตันต่อเดือน

“ในฐานะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ได้เล็งเห็นความสำคัญและตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากขยะพลาสติก เนื่องจากพลาสติกใช้ระยะเวลานานในการย่อยสลาย และปัจจุบันมีการคิดค้นการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด IRPC จึงได้สนับสนุนการใช้วัตถุดิบที่มาจากขยะพลาสติกเป็นการส่งเสริมการลดขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ นับเป็นการดำเนินการที่สอดรับกับแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (CIRCULAR ECONOMY) และสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการทำโรดแมพ การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 ให้บรรลุสู่เป้าหมายการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ภายในปี 2570″

สำหรับบริษัท เทคซ่า เอนเนอร์ยี จำกัด และบริษัท วีเอ เอนเนอร์ยี จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันขยะพลาสติกแปรรูป เป็นบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย “ไพโรไลซิส” (Pyrolysis) ผลิตน้ำมันขยะพลาสติกแปรรูป ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และไม่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากกระบวนการผลิตเป็นการเผาไหม้แบบ ไร้ออกซิเจน ที่อุณหภูมิระหว่าง 200-500 องศาเซลเซียส เพื่อเปลี่ยนวัตถุดิบจากสภาวะของแข็งให้ระเหิดเป็นไอน้ำมันและก๊าซสังเคราะห์ต่างๆ จากนั้นทำการควบแน่นสู่สถานะของเหลว ซึ่งผลผลิตที่ได้คือน้ำมันปิโตรเลียม (น้ำมันเตา ดีเซล และแนฟทา) ที่สามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงสำหรับภาคอุตสาหกรรม คมนาคม หรือผลิตไฟฟ้าได้

“ที่ผ่านมาการกำจัดขยะพลาสติกทำได้ด้วยวิธีเผาหรือฝังกลบ ซึ่งปริมาณขยะพลาสติกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่พื้นที่ฝังกลบขยะมีอยู่อย่างจำกัด อาจไม่เพียงพอกับปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้น สำหรับวิธีการเผาก็ต้องมีเทคโนโลยีนวัตกรรมการเผาที่ไม่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม แต่การลงทุนแปรรูปขยะพลาสติกด้วยเทคโนโลยีไพโรไลซิสจะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่ากลับมาใช้ใหม่

อีกทั้งไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมดังนั้น ความร่วมมือในครั้งนี้ จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ตามนโยบายของ IRPC และสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล เรื่องการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน” นายนพดล กล่าว 

เครดิต : https://www.kaohoon.com/content/304458